Reach for the SKY แบบไทยๆ

Arm Denkittikhun
Thinkerbell
Published in
2 min readNov 27, 2017

--

Reach for the sky เป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับประเทศเกาหลีใต้ที่ตีแผ่ระบบการศึกษาและการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศ การสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยนั้นเป็นบันไดก้าวต่อของนักเรียน จึงแน่นอนว่าการสอบคือชีวิต ความหวัง และอาจจะเป็นทุกสิ่งสำหรับพวกเขาในช่วงเวลานั้น นักเรียนเกาหลีจึงพร้อมจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

ดูไปดูมา สังคมการศึกษาบ้านเรา ก็เหมือนเป็นแฝดน้องคลานตามๆ กันออกมา หน้าตาการศึกษาบ้านเราในตอนนี้ ก็มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ไม่แพ้ที่ประเทศเกาหลี ไล่ตั้งแต่ การสอบเข้าโรงเรียนอนุบาล!!! การแข่งขันกันตั้งแต่ประถม การสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนสาธิต ม. ต่างๆ และการวัดกันให้รู้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าใครเก่งตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย อย่างที่เห็นได้ในกรุงเทพว่ามีการสอบเข้า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ด้านวิชาการ) วิทยาลัยดุลยางคศิลป์ (ด้านดนตรี) และโรงเรียนเตรียมทหาร (ด้านทหาร) หลังจากนั้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็มาถึง หลายๆ คนเฝ้าร่ำเรียน กวดวิชา อ่านหนังสือ กันอย่างเคร่งเครียดก็เพียงเพื่อการสอบครั้งนี้

เมื่อการสอบคือทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่ไทย สำหรับคนส่วนมาก การสอบเก็บคะแนนจาก GAT/ PAT, O-NET, 9 วิชาสามัญ และ กสพท. เป็นตัวกำหนดชะตาการเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่ง เช่น จุฬา ฯ ธรรมศาสตร์ ม. เกษตร แน่นอนว่ามีนักเรียนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นที่สมหวัง ได้เข้ามหาวิทยาลัยที่พวกเขาใฝ่ฝัน

http://www.filmedinether.com/reviews/reach-for-the-sky-review/

เมื่อการศึกษาเป็นมากกว่าแค่ความรู้

การอ่านหนังสือสอบไม่ได้เป็นเพียงแค่การหาความรู้ แต่ยังเป็นวิธีที่จะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงลงทุน ทั้งเวลา -ไม่ว่าจะเป็นเวลา กิน อาบน้ำ พักผ่อน นอน ทำทุกอย่างวนไปจนกว่าวันสอบจะมาถึง ไม่มีภาพการเล่น การเที่ยว หรือความสัมพันธ์ การทำความรู้จักคนใหม่ๆ นักเรียนจำนวนไม่น้อยยอมอดทนอดกลั้นต่อสิ่งต่าง ๆ เพื่ออ่านหนังสือ เรียนพิเศษ ที่ไม่ใช่แค่เพื่อความรู้ แต่เพื่อการแข่งขัน

เมื่อการสอบพาหลงทาง

เมื่อการสอบเป็นเส้นทางหลักในการพาไปสู่มหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน หลายคนจึงเน้นไปที่เป้าหมายมากกว่าวิธีการและความชอบ มีทั้งการโกง ไม่ใช่โกงเฉพาะการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เริ่มต้นตั้งแต่การสอบเล็ก ๆ ย่อย ๆ ในโรงเรียน ไปถึงการสอบกลางภาค ปลายภาค หลายคนทุ่มเทไปที่เป้าหมายที่จะได้เข้าเรียนในสถาบันบางแห่งมากกว่าสิ่งที่ตัวเองชอบ จึงยอมเลือกคณะที่คะแนนน้อย ยอมแลกความชอบเพื่อจะได้อยู่ในมหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน เวลาเรียน 4 ปีในมหาวิทยาลัย เลยเสียไปกับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ ไม่ถนัด และไม่สนใจ

ปัญหาใหญ่ตามมาคือพวกเขาไม่รู้ว่าเราชอบอะไรกันแน่ เพราะขาดการพูดคุยกับตัวเองอย่างจริงจัง ขาดการฝึกฝนทักษะที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ขาดความรู้อย่างแท้จริง เพราะการโกง การเก็งข้อสอบเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงไม่รู้จักคณะที่ตัวเองจะเข้าว่ามีเรียนอะไรบ้าง ไม่รู้จักสายงานอาชีพที่ตัวเองจบออกมา หลายคนยังไม่รู้เลยว่า คนเรียนจบวิศวคอมพิวเตอร์ เป็นได้มากกว่า โปรแกรมเมอร์ หรือจบบัญชี เป็นได้มากกว่าแค่นักบัญชี รู้แต่ว่าตอนนี้ต้องสอบให้ได้

“ จะว่าไประบบการสอบไม่ได้ผิดอะไรหรอก แต่ผิดที่วัยรุ่นอย่างเราๆ ต้องมานั่งอ่านหนังสือดึกๆ ดื่นๆ อดหลับ อดนอน นี่แหละ “

เมื่อการสอบเป็นตัวกำหนดอะไรบางอย่างในสังคม

เราก็ยอมรับสภาวะเชิดชูมหาวิทยาลัยบางแห่งแบบบ้าคลั่ง มีการปลูกฝังกันตั้งแต่ระดับครอบครัว จนไปถึง สังคมทั่วไป หลายๆ ครอบครัวยอมทำงานพิเศษเพื่อให้ลูกหลานสามารถเรียนพิเศษ ซื้อหนังสือ จ้างครูสอนส่วนตัว เท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องไปบนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ลูกหลานของพวกเขาสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเหล่านั้นได้ และถ้าหากการสอบผ่านพ้นไปด้วยดี ครอบครัวก็จะรู้สึกฟิน อย่างกับว่า ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะเชื่อว่ามหาวิทยาลัยเหล่านั้นสามารถนำพาชีวิตลูกหลานในอนาคตได้อย่างแน่นอน

ค่านิยมในสังคมไทยที่ว่า ถ้าสอบเข้ามหาลัยฯ ดีๆ ไม่ติดก็เท่ากับอนาคตพัง แล้วมองในมุมหนึ่งก็อาจจะจริง เพราะสังคมมหาวิทยาลัยในแต่ละที่ก็แตกต่างกัน Connection ที่จะได้ก็แตกต่างกัน ความเข้มข้นของการศึกษาก็แตกต่างกัน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลการสมัครเข้าทำงานที่บริษัทชั้นนำในประเทศ หลายๆ คนที่ผิดหวังจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน เลยมองว่าตนเองอนาคตพังแล้ว ชีวิตดีๆ ไม่เหลือแล้ว แต่ที่จริงมีคนที่ไม่ได้จบจากมหาลัยที่คนเชิดชูมากมายแต่ก็ประสบความสำเร็จในการงานอาชีพของตนเองเช่นกัน

แล้วพระคัมภีร์ว่าไงกับเรื่องนี้

มีข้อพระคัมภีร์ตอนหนึ่งที่ว่า

“จงฝึกเด็กในทางที่เขาควรจะเดินไป และเมื่อเขาเติบใหญ่ เขาจะไม่พรากจากทางนั้น” สุภาษิต ​22:6

ไม่ว่าเราจะอยู่วัยมัธยม หรือ วัยมหาวิทยาลัย ก็ต้องเรียนรู้จักทางที่เราต้องการจะก้าวต่อ และเริ่มค้นหาหาคำตอบให้กับชีวิตว่าวันนี้ที่เราไปเรียน เราทำไปเพื่ออะไร เราอดหลับ อดนอน อ่านหนังสือ เพื่ออะไร จริง ๆ แล้วเราเป็นใคร และเราอยากทำอะไรกันแน่

อีกข้อหนึ่งก็ได้บอกว่า

“ ได้ปัญญาก็ดีกว่าได้ทองคำสักเท่าใดและได้ความรอบรู้ก็น่าปรารถนากว่าได้เงิน” สุภาษิต 16:16

พระคัมภีร์ได้ทำให้เห็นว่าปัญญา ความรอบรู้ นั้นดีกว่าเงินทอง เหตุผลก็เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญา เงินทองที่มีอาจจะหมดไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้ามีปัญญา มีความรอบรู้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานติดอยู่กับตัวเรา ไม่ว่าเราจะไปที่ไหนเราสามารถใช้ความรู้ ความเข้าใจในการทำงานในอนาคต หาเงิน หาทอง ภายใต้ปัญญาที่สอนเราให้ยำเกรงพระเจ้า และฝากความมั่นคงในอนาคตไว้กับพระเจ้า

สำหรับคนที่เรียนไม่เก่งก็มีข้อพระคัมภีร์หนุนใจเช่นกัน

แต่ปัญญาจากเบื้องบนนั้นบริสุทธิ์เป็นประการแรก แล้วจึงเป็นความสงบสุข การผ่อนหนักผ่อนเบา การยอมรับฟัง การเต็มเปี่ยมด้วยความเมตตาและผลดีต่างๆ ไม่มีการลำเอียง ไม่มีการหน้าซื่อใจคด ยากอบ 3:17

ถ้าเราไม่ได้เป็นคนเก่งในระบบที่วัดกันด้วยคะแนนและการสอบ เราจะเป็นคนที่มีปัญญาได้โดยการยึดมั่นกับคำว่าปัญญาตามบรรทัดฐานของพระคัมภีร์ และถามตัวเราเองว่า “เรากำลังเติบโตขึ้นในด้านปัญญาหรือไม่” เพราะชีวิตเราไม่เคยหยุดอยู่กับที่ เราจึงต้องเติบโตในด้านปัญญาที่ถูกต้องคือ เติบโตไปเป็นที่คนรู้จักพระเจ้า ยำเกรงพระเจ้า มีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นคนอ่อนโยนขึ้น ให้อภัยคนได้ดีขึ้น มีน้ำใจมากขึ้น มีมารยาทมากขึ้น มีความเมตตามากขึ้น มีความยุติธรรมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้พระคัมภีร์นับว่าเป็นปัญญาที่พระเจ้าทรงให้คุณค่า

ไม่ว่าหนังจะตีแผ่การศึกษา การสอบออกมาอย่างไร สิ่งที่น่าคิดมากไปกว่าตัวหนังคือ เราเรียนเพื่ออะไรกันแน่ อนาคตเราอยากทำอะไร และเราสามารถสร้างคุณค่าให้ตนเอง คนรอบข้าง องค์กร สังคม ประเทศชาติ และโลกได้อย่างไรบ้างจากสิ่งที่เราเรียน

--

--

เชื่อในการเปลี่ยนแปลง • เชื่อในการพัฒนาเมือง • เชื่อในระบบขนส่งมวลชนดีๆ • เชื่อในการมองต้นไม้เขียวๆ จะรักษาเยียวยา • เชื่อในคงอยู่ของจิตวิญญาณ • เชื่อในพระเจ้า