ใช้เงินซื้อความสุข #2

Sitthavee Teerakulchon (Son)
Thinkerbell
Published in
1 min readSep 29, 2017

--

เราจะใช้เงินซื้อความสุขได้ยังไง? ขอแค่เราเรียนรู้การใช้เงินอย่างที่พระเจ้าอยากให้ใช้ นี่อาจเป็นเคล็ดลับนำไปสู่ความสุขก็ได้นะ

จากบทความก่อนหน้านี้ เราเม้าท์กันว่า ถึงเรารวย เงินก็สร้างปัญหาได้นะ ใครพลาดไปไม่ได้อ่าน สามารถกลับไปอ่านได้ที่นี่

ตัดฉากกับมาที่ชีวิตจริง เมื่อเราดูชีวิตเพื่อนๆ เราพบว่า หลายครั้งพวกเขามีเงินใช้จริง แต่เงินเหล่านั้นเหมือนจะไม่ได้สร้างความสุขให้พวกเขาเลย เพราะอะไรกันนะ?

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเขามีเงินหรือไม่ … ปัญหาอยู่ที่ว่าเขาใช้เงินอย่างไร

ใช่แล้ว!! เพราะต่อให้เรามีเงินก็จริง แต่ถ้าใช้ไม่เป็น มันก็เหมือนสุภาษิตว่า ไก่ได้ทอง เอ๊ย! กิ้งก่าได้พลอย เอ้ย! ไก่ได้พลอย เอ้ย! ถูกแล้ว #เสียเวลาอ่านไป3วิ

คืองี้ ช่วงนี้มันมีเทรนด์งานวิจัยใหม่ๆ มาอยู่เรื่อยที่ว่า เงินซื้อความสุขได้ เพียงแต่ต้องใช้อย่างถูกต้อง เช่น ต้องใช้เงินให้ตรงกับบุคลิกของตัวเอง หรือ ใช้เงินเพื่อสร้างประสบการณ์ดีๆ

แต่มีงานวิจัยหนึ่ง ที่ผมอยากเน้นเป็นพิเศษคือ การใช้เงินแบบ…

“เพื่อผู้อื่น” ซึ่งเป็นงานวิจัยจาก University of British Columbia และ Harvard Business School ชี้ให้เห็นว่า การใช้เงินเพื่อผู้อื่นนั้นสร้างความสุขได้มากกว่าการใช้เงินเพื่อตัวเอง

“…การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ” — กจ. 20:35

การใช้เงินเพื่อผู้อื่น จึงเป็นหนึ่งในหนทางของการใช้เงินที่ “ฉลาด”

เราพบแนวคิดใกล้เคียงกันนี้ในคำอุปมาหนึ่งของพระเยซูเรื่อง “ผู้ดูแลเจ้าเล่ห์” (ลก. 16:1–12)

เรื่องย่อๆ ก็คือ มีเจ้าหน้าที่การเงินของเศรษฐีคนหนึ่งถูกจับได้ว่าใช้ทรัพย์สินเจ้านายแบบ “ฟุ่มเฟือย” ก็เลยจะถูกไล่ออก

ไอ้เจ้าหน้าที่คนนี้ก็กลัวว่าถูกไล่ออกแล้วจะไม่มีกินไม่มีใช้ ก็เลยเรียกลูกหนี้ของเจ้านายมา และโกง (อีกแล้ว) ด้วยการลดหนี้ให้ฟรีๆเพื่อช่วยเหลือบรรดาลูกหนี้

พระเยซูจึงชมเจ้าหน้าที่การเงินคนนี้ ไม่ได้ชมว่าเขาเป็นคนดีนะ (เพราะเขาขี้โกง) แต่ชมว่าคนนี้ “ฉลาด”

ฉลาดตรงไหนนะหรือ?? ฉลาดในการใช้ทรัพย์สมบัติ-อำนาจที่ตัวเองมี เพื่อคนอื่นยังไงล่ะ (คนอื่นในเรื่องนี้คือ “บรรดาลูกหนี้ของเจ้านาย”)

เพราะในท้ายที่สุด ถ้าเขาถูกไล่ออกและไม่มีอะไรจะกิน บรรดาลูกหนี้ที่เขาเคยช่วยไว้ ก็อาจจะกลับมาเห็นใจช่วยเหลือเขาบ้าง

พระเยซูจึงสรุปคำอุปมานี้เอาไว้ว่า….

“…จงใช้ทรัพย์สมบัติฝ่ายโลกหาเพื่อน เพื่อเมื่อหมดเงิน ท่านจะได้รับการต้อนรับเข้าสู่ที่พำนักอันถาวร” — ลูกา 16:9 (ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย)

การใช้เงินที่ดีจึงไม่ใช่การเอาแต่กอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวอย่างเดียว แต่เป็นการใช้เงินเพื่อช่วยเหลือคนอื่นด้วย

ดังนั้นผมเชื่อว่า “เงินสร้างความสุขได้” แต่ต้องใช้เงินอย่างฉลาด

คือไม่ได้ใช้เงินเพื่อตอบสนองตัณหาของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้เงินเพื่อผู้อื่น (เช่นลงทุนในชีวิตของคนอื่นโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน) แค่นี้การมีเงินก็สามารถซื้อความสุขได้แล้ว :)

--

--